Diamond Education

สีเพชร (Color) เพชรที่สวย ต้องเป็นเพชรน้ำ 100 จริงหรือไม่?

สีเพชร

หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่า เพชรนั้นมีหลากหลายสีเหมือนกับอัญมณีอื่นๆทั่วไป เพียงแต่ สีเพชร ที่เราพบเห็นบ่อยที่สุด มักจะเป็นสีขาวใสเท่านั้นเอง แล้วเพชร D Color / E Color หรือว่าที่คนไทยนิยมเรียกว่าเพชรน้ำ 100, น้ำ 99 บ้างล่ะ จริงๆแล้วคือสีอะไรกันแน่ มีความแตกต่างกันยังไง บทความนี้ Amoriz จะพาทุกท่านไปรู้จักกับเรื่องราวของ “สี” ที่เกี่ยวข้องกับเพชรทั้งหมดครับ ตามมากันได้เลย

ยาวไป อยากเลือกอ่าน

การเกิดสีในอัญมณี

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับสีที่เรามองเห็นกันก่อน ซึ่งสีนี่เองที่เป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้เราเห็นอัญมณีเป็นสีต่างๆอย่างสวยงาม โดยช่วงคลื่นแสงที่ตามนุษย์เราสามารถมองเห็นได้นั้น จะมีช่วงคลื่นสั้น ตั้งแต่ 400 – 700 นาโนเมตร (nanometer : nm) ดังนี้
  • Red (แดง)                       700 – 630 nm
  • Orange (ส้ม)                   630 – 590 nm
  • Yellow (เหลือง)               590 – 550 nm 
  • Green (เขียว)                  550 – 490 nm
  • Blue (น้ำเงิน)                  490 – 440 nm
  • Violet (ม่วง)                   440 – 400 nm
สีเพชร สเปกตรัม

เมื่อแสงขาวตกกระทบผิวของอัญมณี (แสงขาว ประกอบด้วยช่วงคลื่นแสงตั้งแต่สีแดงถึงสีม่วง) แสงบางส่วนจะสะท้อนกลับมา (Reflect) บางส่วนหักเห (Reflect) เข้าไปในอัญมณี และบางส่วนถูกดูดกลืนไว้ในอัญมณี (Absorb) แล้วช่วงแสงที่เหลือที่ไม่ถูกดูดกลืน จะถูกปล่อยออกมาเข้าตาเรา ทำให้เรามองเห็นอัญมณีเป็นสีต่างๆตามช่วงแสงที่ถูกปล่อยออกมานั่นเอง

แต่ในกรณีที่อัญมณีนั้นปล่อยแสงออกมาทั้งหมด ไม่ดูดกลืนแสงไว้เลย เราจะเห็นอัญมณีนั้นใส ไม่มีสี กลับกันครับ หากอัญมณีนั้นดูดกลืนแสงไว้ทั้งหมด ไม่ปล่อยออกมาเลย เราจะเห็นอัญมณีเป็นสีดำนั้นเอง

การเกิดสีในเพชร

ในตลาดเพชร เรามักจะพบเห็นเพชรมีสีขาวใสมากที่สุด นั้นเป็นเพราะเพชรส่วนใหญ่ไม่ดูดกลืนคลื่นแสงเอาไว้เลย ทำให้เรามองเห็นเพชรมีสีขาวใส แต่ก็มีบ้างที่เพชรดูดกลืนแสงบางส่วนเอาไว้ ทำให้เพชรมีสีต่างๆเพิ่มเติม เช่น สีเหลืองเข้ม สีส้ม สีน้ำตาล สีแดง สีชมพู สีม่วง สีเขียว สีฟ้า ไปจนถึงสีดำ 

เราจึงแบ่งสีเพชรออกได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก Colorless Color คือเพชรสีขาวใส ไม่มีสี ไปจนถึงเพชรออกเหลืองอ่อนๆ และกลุ่มที่สอง Fancy Color คือเพชรสีอื่นๆทั้งหมด ที่ไม่ใช่สีขาวใส เราเรียกว่า เพชรแฟนซี (Fancy Diamond) ซึ่งเพชรแฟนซีนั้น มีความหายากมาก มีเพียงประมาณ 2% ของเพชรดิบทั้งหมดเท่านั้น หรือเพียง 1 ใน 10,000 กะรัต ของเพชรที่ใช้เป็นอัญมณี และมีโอกาสเพียง 1 ใน 25,000 กะรัต ที่จะพบว่ามีสีเข้มสวยงาม

เพชรแฟนซี

โดยสีเพชร Fancy Diamond เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เป็นความผิดปกติของโครงสร้างหรืออะตอม แล้วเกิดเป็น Color Graining หรือ Color Center รวมถึงมีธาตุอื่นๆเข้าไปแทนที่อะตอมของคาร์บอน (C) โดยปกติแล้วธาตุที่เข้าไปแทนจะเป็นไนโตรเจน หรือ โบรอน ซึ่งไนโตรเจนจะทำให้เพชรมีสีออกไปในโทนสีเหลือง ส่วนโบรอนจะให้สีออกไปในโทนของสีฟ้า

ดังนั้นปริมาณของไนโตรเจน และโบรอน ที่เข้าไปแทนที่อะตอมของคาร์บอน (C) รวมถึงลักษณะการรวมตัวกันของไนโตรเจนที่เข้าไป ถูกนำมาใช้ในการแบ่งชนิดของเพชรที่จัดเป็นอัญมณี โดยแบ่งได้ 4 ชนิด ดังนี้

เพชรแบ่งออกเป็นกี่ชนิด ?

1. เพชรชนิด Ia (Type Ia)

พบมากถึง 98% เป็นเพชรที่มีปริมาณไนโตรเจนค่อนข้างสูง โดยอะตอมจับตัวกันเป็นกลุ่ม (Aggregate) แล้วกระจายตัวอยู่ในโครงสร้างเพชร แทนที่อะตอมของคาร์บอน (C) เพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วจะทำให้เพชรไม่มีสีจน ถึงสีออกเหลืองอ่อนๆ เรียกว่า “เพชรเคป” (Cape Diamond)

2. เพชรชนิด Ib (Type Ib)

พบน้อยมากในธรรมชาติ มีน้อยกว่า 1% ของเพชรที่เป็นอัญมณี มีธาตุไนโตรเจนน้อยกว่าชนิด Ia และไนโตรเจนอยู่ในรูปของอะตอมเดี่ยวๆ ไม่รวมเป็นกลุ่ม เป็นเพชรที่มีสีเหลืองเข้มกว่าชนิด Ia เรียกเพชรชนิดนี้ว่า “เพชรคานารี” (Canary Diamond)
สีเพชรแฟนซี

3. เพชรชนิด IIa (Type IIa)

พบน้อยในธรรมชาติ และมีธาตุไนโตรเจนอยู่ในปริมาณที่ต่ำมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเพชรไม่มีสี เพชรชนิดนี้ที่มีชื่อเสียงคือ “เพชรคูลินัน” (Cullinan Diamond)

4. เพชรชนิด IIb (Type IIb)

พบได้น้อยในธรรมชาติเช่นกัน เป็นเพชรที่มีปริมาณธาตุโบรอนมากกว่าธาตุไนโตรเจน มีคุณสมบัติกึ่งนำไฟฟ้า โดยทั่วไปมีสีน้ำเงินหรือเทา เพชรที่มีชื่อเสียงคือ “เพชรโฮป” (Hope Diamond)
เพชรโฮป
Images courtesy of Fortunaauction.com

การจัดเกรดสีเพชร ในกลุ่ม Colorless

ด้วยเพชรสีขาวใสนั้นได้รับความนิยมสูงสุด  สถาบัน GIA  จึงได้เริ่มระบบการเกรดคุณภาพสีเพชรในกลุ่ม Colorless Color แบบไล่ตามตัวอักษร ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1950 – 1959 มาจนถึงปัจจุบัน และระบบนี้ก็ได้กลายมาเป็นมาตรฐานที่คนทั้งโลกต่างยอมรับ และใช้กันอย่างแพร่หลาย

โดยเริ่มจากตัวอักษร “D” เป็นตัวแรกในระบบ ถือเป็นเกรดสูงสุด (ขาวใสมากที่สุด) ไล่ตามลำดับ E, F, G… ไปเรื่อยๆ จนถึงตัวสุดท้ายในระบบ คือ “Z” จัดเป็นเกรดต่ำสุด (เพชรที่มีสีเหลืองอ่อน)

การเรียก สีเพชร แบบไทยไทย

ด้วยสถาบัน GIA ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ในการกำหนดคุณภาพสีเพชร จึงอาจจะไม่ค่อยคุ้นชิ้นกับคนไทยเท่าไหร่นัก คนไทยจึงคิดวิธีเรียกสีเพชรขึ้นมาใหม่เป็นของตัวเอง โดยเรียกสีว่า “น้ำ”

เริ่มจาก น้ำ 100 (D Color) แล้วไล่ลงไปตามลำดับ น้ำ 99, น้ำ 98, น้ำ 97, น้ำ 96… ลงไปเรื่อยๆ นั้นเองครับ ดังนั้นหากคุณได้ยินว่า เพชรน้ำ 100 หรือ เพชร D Color แท้จริงแล้ว คือความหมายเดียวกันนั้นเองครับผม

การเจียระไนเพชร รูปทรงต่างๆ

ความแตกต่างของแต่ละช่วงสีเพชร

คุณผู้อ่าน อาจจะอยากทราบว่า แล้วเพชรเกรดตั้งแต่ D Color ไปจนถึง Z Color มีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนใช่ไหมครับ ผมเตรียมข้อมูลไว้แล้ว ไปอ่านต่อกันได้เลยยยย

  • D-E-F Grades

จัดเป็นเพชรเกรดไร้สี (Colorless) กล่าวคือ เป็นเพชรที่ใสอย่างเดียว โดยไม่มีสีอื่นใดมาปนเลย ทั้ง 3 Grades นี้ แยกออกจากกันได้ยากมากหากคุณไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เพชรที่อยู่โซนเกรดนี้จะหายาก และมีราคาสูง

  • G-H-I-J Grades

จัดเป็นเพชรเกรดเกือบจะไร้สี (Near Colorless) เพชรในโซนเกรดนี้ จะเริ่มมีสีขึ้นมาเล็กน้อย โดยจะเห็นเป็นสีใสไม่มีสี เมื่อมองจากด้านบนผ่านหน้า Table (Face-up) และจะเห็นเป็นสีเกือบใส เมื่อมองจากด้านล่างผ่านด้าน Pavillion (Face-down)

  • K-L-M grades

จัดเป็นเพชรเกรด Faint – Yellow  โดยจะเริ่มมองเห็นเป็นสีเหลืองจางๆ จากการมองทั้ง 2 ด้าน คือ ทั้ง Face-up และ Face-down แต่หากเพชรมีขนาดเล็กเกินไป อาจทำให้มองเห็นเป็นใส ไม่มีสี

  • N-O-P-Q-R Grades

จัดเป็นเพชรเกรด Very Light Yellow เพชรที่อยู่ในช่วงนี้จะมีสีเหลืองอ่อนมาก แต่ยังคงเข้มกว่าช่วง K-M Grades ซึ่งจะสังเกตเห็นเป็นสีเหลืองอ่อนได้จากการมองทั้งแบบ Face-up และแบบ Face-down

  • S-to-Z Grades

จัดเป็นเพชรเกรด Light Yellow  สำหรับสีในช่วงนี้ จะมีสีเข้มกว่าช่วงอื่น แต่ยังคงมีสีอยู่ในโทนเหลืองอ่อน สังเกตเห็นได้ทั้งแบบ Face-up และ Face-down เช่นกัน บางครั้งเพชรดิบที่มีสีตั้งแต่ X Color ถึง Z Color จะถูกนำมาเจียระไน แล้วขายเป็นเพชรแฟนซีแทน

ในกรณีของเพชรสีเหลือง (Yellow Diamond) ที่มีสีเข้มกว่า Z Color ไปแล้ว จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Fancy Diamond ร่วมกับเพชรสีอื่นๆครับ ซึ่งเราจะไม่มีการเกรดสีในส่วนของ Fancy Diamond แต่อย่างใด การซื้อขายก็จะขึ้นอยู่กับความชอบ และความพึงพอใจในสีเลยครับผม

เปรียบเทียบ สีเพชร

วิธีการตรวจสอบคุณภาพสีเพชร

การเปรียบเทียบสีเพชร โดยสถาบันต่างๆในการออกใบรับรองหรือใบเซอร์ ทำได้โดยการใช้ Masterstone Set ซึ่งก็คือ เพชรต้นแบบที่ระบุสีแต่ละ Grade เป็น Master เอาไว้ 

Masterstone Set ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • ขนาดเพชรไม่ต่ำกว่า 0.25 กะรัต
  • ไม่มีลักษณะของการเรืองแสง (Non-Fluorescence)
  • ความสะอาด (Clarity) ควรอยู่ในระดับ VS2 ขึ้นไป
  • ไม่มีมลทินที่ส่งผลต่อสี และความโปร่งใสของเพชร
  • ไม่มีมลทินที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าผ่าน Pavillion (ก้นเพชร)
  • สัดส่วนของ Crown และ Pavillion ต้องมีสัดส่วนที่พอดี ไม่ตื้น หรือลึกเกินไป

โดยในการเปรียบเทียบสีนั้น เราจะคว่ำหน้าเพชร Masterstones Set ลง แล้วนำเพชรที่ต้องการเทียบสี คว่ำหน้าลงเช่นกัน จากนั้นมองเทียบสีเพชร ในทิศทางตั้งฉากกับหน้า Pavillion (ก้นเพชร) เพื่อหาว่าเพชรที่ต้องการตรวจสอบ ใกล้เคียงกับสีไหนใน Masterstone Set นั้นเอง 

Masterstone Set Diamond
Images courtesy of Gia.edu

เพชรน้ำ 100 สวยที่สุดจริงไหม?

จากที่ผมอธิบายไปแล้วว่า การลำดับสีเพชรโดยหลักสากลนั้น จะลำดับให้ D-F Color (น้ำ 100-98) เป็นเพชรเกรดไร้สี (Colorless) และเพชร G-J Color (น้ำ 97-94) นับเป็นเพชรเกรดเกือบจะไร้สี (Near Colorless) 

ซึ่งตรงนี้เองที่หลายท่านมักจะเข้าใจผิดว่าเพชรที่สวย ต้องเป็นเพชรน้ำ 100 เท่านั้น ซึ่งจากประสบการณ์ของผมแล้ว เพชรตั้งแต่ G Color (น้ำ 97) ขึ้นไป ก็มีความขาวมากๆแล้วครับ มองด้วยตาเปล่าแทบจะไม่ติดเหลืองเลย แล้วถ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ก็แยกกับเพชรน้ำ 100 ไม่ได้ด้วยครับ ส่วนเพชรตั้งแต่ H Color (น้ำ 96) ลงไป จะเริ่มสัมผัสได้ถึงความเหลืองครับ 

ตรงนี้หากคุณผู้อ่านไม่เชื่อ Amoriz เชิญชวนให้ทุกท่านมาลองเทียบสีเพชรตัวจริงที่ Office Showroom ของ Amoriz ก่อนการตัดสินใจได้เลยครับ แล้วคุณจะรู้ว่ามันแทบไม่แตกต่างกันเลยจริงๆครับ

ชาร์ทแสดง สีเพชร

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่า สีของเพชร หรือ น้ำของเพชร (Color) เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดในหลัก 4C’s หรืออาจจะเป็นเพราะความเชื่อที่ว่า เพชรน้ำ 100 คือ เพชรที่สวยที่สุด ทำให้ C (Color) เป็น C ที่หลายท่านโฟกัสเป็นอันดับต้นๆเวลาเลือกซื้อเพชรเสมอ

แต่ในความเป็นจริง เพชรที่ต่างกัน 1-2 สี หากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ จะไม่สามารถแยกแยะได้ด้วยตาเปล่า เช่น หากคุณผู้อ่านมีเพชรทรงกลม E-H Color แล้วนำไปให้เพื่อนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญดู แน่นอนว่าเพื่อนของคุณผู้อ่านคงเดาไม่ออกว่าเพชรเม็ดนั้นสีอะไรกันแน่ หรืออาจจะมองว่าเป็นเพชรน้ำ 100 (D Color) ไปเลยครับ

ดังนั้นการเลือกเพชร D Color หรือน้ำที่ดีที่สุด ไม่ใช่กฏที่ถูกต้องที่สุดเสมอไป เพชรที่สวยต้องมีหลายปัจจัยในการพิจารณาประกอบกัน นอกจากสีของเพชร (Color) แล้ว การพิจารณาที่ น้ำหนักของเพชร (Carat), ความสะอาดของเพชร (Clarity) และ เหลี่ยมการเจียระไน (Cut) ก็ไม่ควรมองข้ามเช่นกันครับผม

ตารางเทียบ สีเพชร
ตารางเปรียบเทียบ สีเพชร ตั้งแต่ D Color ไปจนถึง Z Color

บทสรุป

จุดสำคัญที่ผมอยากให้คำแนะนำคือ หากกำลังพิจารณาเพชรสีใดสีหนึ่งเป็นพิเศษ ควรดูเปรียบเทียบกับสีก่อนและหลังหนึ่งขั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น

หากกำลังเลือกเพชรน้ำ 98 ก็ควรพิจารณาน้ำ 99 และน้ำ 97 ด้วยครับ เพราะน้ำ 98 และน้ำ 97 มีราคาต่างกันพอสมควร แม้ว่าสีจริงๆจะมองดูด้วยตาแทบไม่แตกต่างกันก็ตามครับ หรือหากจ่ายเงินในจำนวนเท่ากัน การเลือกเพชรที่สีต่ำกว่า 1 ขั้น อาจจะได้เพชรที่มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยครับ

สีเพชร (Carat) จึงเป็น C ตัวที่สอง ใน การพิจารณาคุณภาพเพชรด้วยหลัก 4C’s ที่จะช่วยกำหนดความขาว และงบประมาณของเพชรเบื้องต้นในการเลือกซื้อเพชรครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถาม หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : Amoriz Jewelry
Instagram : Amoriz Jewelry
Tel : 087-5452612

author-avatar

About M. Whittawat

เป็น Gemologist ผู้ชื่นชอบโลกของอัญมณีเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลในสีสัน และความงดงามของประกายไฟ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อไปให้ถึงการเป็นสุดยอดนักอัญมณีของไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *