Diamond Education

การเจียระไนเพชร (Cut) เหลี่ยมเพชรที่สมบูรณ์แบบ ตัดเกรดยังไง?

การเจียระไนเพชร รูปทรงต่างๆ

การเจียระไนเพชร แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ เพชรกลม (Round Brilliant Cut) และเพชรแฟนซี (Fancy Cut) ซึ่งเพชรแฟนซี ก็คือเพชรรูปทรงอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพชรกลมนั้นเองครับ ยกตัวอย่างเช่น

เพชรทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส (Princess Cut) เพชรทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Emerald Cut) เพชรทรงหยดน้ำ (Pear Shape) เพชรทรงไข่ (Oval Shape) เพชรทรงเม็ดข้าว (Marquise) เพชรทรงหมอน (Cushion) เพชรทรงหัวใจ (Heart) เป็นต้น แต่ละรูปทรงมีคุณสมบัติ และความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป

โดยรูปทรงที่ได้รับความนิยมตลอดกาล คือ เพชรทรงกลม

การเจียระไนเพชร ทรงกลม

คุณภาพของเหลี่ยมเพชรนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ต่อความสวยงาม และคุณค่าของเพชร และถ้าหากรวมทุก 4C’s เข้าด้วยกันแล้ว Diamond Cut ถือเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการวิเคราะห์ สำหรับเพชรกลมนั้น เหลี่ยมการเจียระไนที่นิยม คือเหลี่ยมเกสร (Brilliant Cut) ที่จะต้องมีทั้งหมด 58 เหลี่ยม รวมเหลี่ยมที่ก้นเพชรด้วย (Culet) 

ในยุคแรกนั้น เราจะใช้คำว่าเพชรเบลเยี่ยมคัท เป็นเพชรคุณภาพที่เจียระไนสวยที่สุด แต่ในปัจจุบัน สถาบัน Gemological Institute of America (GIA) ได้มีจัดเกรดคุณภาพการเจียระไนออกเป็น 5 เกรด ได้แก่ Excellent, Very Good, Good, Fair และ Poor จึงทำให้คำว่า เพชรเบลเยี่ยมคัท คือเพชรที่สวยที่สุด ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป (อ่านเพิ่มเติม : เพชรเบลเยี่ยม สวยกว่าเพชรประเทศอื่นจริงหรือไม่?)

3 คุณสมบัติสำคัญในการตัดเกรด การเจียระไนเพชร

1. สัดส่วนของเพชร (Cut Grade)

การเจียระไนเพชรที่สมบูรณ์แบบ ในทุกๆสัดส่วนของเพชรต้องเหมาะสม ไม่ควรมีหน้าเพชรกว้าง หรือแคบจนเกินไป ความสูงของเพชร ก็ต้องไม่ลึกหรือตื้นจนเกินไป ตลอดจนขอบเพชร (Girdle) ต้องไม่หนาและไม่บางจนเกินไป และเมื่อเจียระไนเพชรได้สัดส่วนที่สมบูรณ์แบบ จะส่งผลให้เกิด

  • ไฟ (Fire) คือ การกระเจิงของแสงออกมาให้เห็นเป็น “สีรุ้ง”
  • ความแวววาว (Scintillation) คือ ความมืด-สว่างที่เกิดจากการสะท้อนของแสงภายในตัวเพชร
  • ประกาย (Brilliance) คือ ความสว่างจากแสงขาวที่สะท้อนออกมาจากพื้นผิวภายนอกและภายในตัวเพชร
การเจียระไนเพชร

โดยสัดส่วนของเพชร จะพิจารณาจากสิ่งดังต่อไปนี้

Table

Table คือ หน้าเพชร ซึ่งเป็นหน้าเจียระไนที่ใหญ่ที่สุด ทำหน้าที่เสมือนหน้าต่างให้มองเห็นภายในเนื้อเพชร โดยหน้า Table และหน้าที่อยู่บริเวณ Crown จะประกอบกันทำให้เกิดเป็นมุมต่างๆ ซึ่งเป็นตัวให้แสงผ่านเข้า-ออกเพชรนั่นเอง

ซึ่ง Table วัดได้โดยการหารความกว้างของหน้าเพชร (พื้นที่บนหน้าเพชร) ด้วยความยาวศูนย์กลางของเพชร (วัดจากซ้ายสุดไปขวาสุด) โดยเปอร์เซ็นต์ของหน้า Table ที่ดีที่สุดสำหรับเพชรกลม (Round Brilliant Cut) คือ อยู่ในช่วง 55 ถึง 65%

Crown

สัดส่วนของหน้า Crown จะส่งผลถึงความงาม และความคงทนของเพชร ประกอบไปด้วย “Crown Angle” และ “Crown Height”

  • Crown Angle คือ มุมระหว่างหน้า Bezel กับระนาบของ Girdle
  • Crown Height คือ ระยะห่างจากระนาบ Girdle ถึงหน้า Table

หากผลึกดิบของเพชรมีลักษณะแบน จะทำให้ได้เพชรที่มี Crown Angle ตื้น เนื่องจากช่างเจียระไนจะต้องพยายามรักษาน้ำหนักให้มากที่สุด โดยเพชรที่มีมุมของ Crown ตื้น มีแนวโน้มที่จะมีหน้า Table ใหญ่ ขอบ Girdle บาง และมี Pavilion ตื้นตามไปด้วย ซึ่งสัดส่วนแบบนี้จะส่งผลต่อความสวยงามและความคงทนของเพชร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปขึ้นตัวเรือน

ในขณะเดียวกันเพชรกลม (Round Brilliant Cut) ที่มี Crown Angle ชัน มักจะมีหน้า Table เล็ก และหน้า Crown สูง ซึ่งการที่มี Crown สูงจะทำให้เพชรมีน้ำหนักมากขึ้น ฉะนั้นการซื้อเพชรลักษณะนี้ จึงเป็นการจ่ายเพิ่มให้กับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น

Girdle

สำหรับเพชรที่เจียระไนดีนั้น จะต้องมีความหนาของ Girdle ที่พอดี ไม่บางไป และไม่หนาไป เพชรที่มี Girdle หนาเกินไป ก็จะทำให้เกิดภาพสะท้อนเป็นสีเทาในเพชรได้ ในขณะที่ถ้า Girdle บางเกินไปจะส่งผลต่อความคงทน โดยเพชรอาจจะเกิดการบิ่นในระหว่างการขึ้นตัวเรือน หรือเมื่อสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้

Pavilion

Pavilion เป็นส่วนที่ทำให้แสงที่เข้ามาจากด้านบน สะท้อนกลับไปยังหน้า Crown เกิดเป็น Brilliance นอกจากนี้ Pavilion ยังเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการกระเจิงของแสงกลายเป็น สีรุ้ง หรือ ไฟ (Fire) อีกด้วย
ขนาดของ Pavilion สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ “Pavilion Angle” และ “Pavilion Depth Percentage”

  • Pavilion Angle คือ มุมระหว่าง Pavilion หลัก ถึงระนาบ Girdle ยิ่งมีมุม Pavilion ชัน ก็จะยิ่งมี Pavilion Depth Percentage มากขึ้น ถ้ามุม Pavilion ชันมากๆ จะทำให้สะท้อนแสงได้ไม่ดี ส่งผลให้เพชรดูมืดลง
  • Pavilion Depth Percentage คือ ระยะห่างจากระนาบ Girdle ไปยัง Culet ถ้า Pavilion Depth ตื้น หรือ ลึกเกินไป แสงจะทะลุผ่านออกทางด้านล่างของตัวเพชรเลย ทำให้ไม่สะท้อนกลับมาด้าน Crown โดยเพชรที่มีความลึกมากกว่า 48% มักจะดูมืดตรงกลางเพชร และถ้าลึกตั้งแต่ 50% ขึ้นไปจะทำให้หน้า Table ทั้งหน้ามืดไปหมด ประกายจึงออกไปที่หน้า Star เรียกว่า ‘Nailhead’ ในขณะที่ถ้าเพชรมีความตื้นเกินไป (ต่ำกว่า 38%) ทำให้เกิดการสะท้อนของ Girdle ในหน้า Table เรียกว่า ‘Fisheye’
Nailhead and Fisheye Diamond
Images courtesy of Diamondtoday

Culet

Culet คือ ส่วนที่อยู่ก้นพลอย เป็นบริเวณที่หน้า Pavilion Main มาบรรจบกัน จุดประสงค์ของการมี Culet คือ เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนและการบิ่นบนเพชรร่วง โดยไม่จำเป็นต้องมีในเพชรทุกเม็ด หาก Culet ใหญ่เกินไป จะทำให้เห็นเป็นจุดสีดำเมื่อมองจากหน้า Table 

2. การขัดเงา (Polish)

การขัดเงาที่สมบูรณ์แบบ ต้องทำให้ผิวเพชรมีความเรียบเนียน สม่ำเสมอ ไม่มีผิวขรุขระ เม็ดทราย และไม่ทิ้งร่องรอยการเจียระไนไว้ (Polish lines) ทำให้แสงที่ตกกระทบลงไปในเพชรเดินทางได้ดี ทำให้เพชรสวยงามมากยิ่งขึ้น หากเพชรมีการขัดเงาได้ไม่ดี เพชรก็จะดูด้านๆ ขมุกขมัว ถึงแม้เพชรเม็ดนั้นจะมีสัดส่วนที่ดีก็ตาม

เนื่องจากเพชรเป็นอัญมณีที่มีความแข็งมากที่สุด เพชรจึงสามารถเจียระไนได้ดีกว่าอัญมณีชนิดอื่น แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการเจียระไนยัง สามารถทำให้เกิดตำหนิบนผิวของเพชรได้ เช่น Polish Line และ Polish Markโดย Polish Line จะเป็นร่องรอยที่เหลืออยู่จากการเจียระไน ส่วน Polish Mark นั้นเกิดจากการเจียระไนที่เร็วเกินไปทำให้หน้าที่ถูกเจียระไนนั้นไหม้ เห็นเป็นหมอกสีขาวๆ

นอกจากนี้ในทิศทางที่เจียระไนได้ยาก มักจะทำให้เกิดร่องและคลื่นบนพื้นผิวของหน้าเจียระไน หรืออาจจะมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ ซึ่งเรียกว่า “Lizard skin” ซึ่งตำหนิจากการเจียระไนนี้ มักพบได้ทั่วไปบริเวณ Girdle ของเพชร โดย Girdle ที่ว่าหยาบนี้จะมีลักษณะเป็นเม็ดๆ คล้ายกับก้อนน้ำตาลเกาะ หรือ อาจจะมี Nick เล็กๆ ที่กินเข้าไปบริเวณ Crown หรือ Pavilion ได้ นอกจากนี้ยังมีลักษณะขรุขระ (Bearded) ร่วมกับรอยแตกเล็กๆ จากพื้นผิวด้านนอกเข้าไปในเนื้อเพชรได้ (อ่านเพิ่มเติม : Diamond Clarity ตำหนิภายนอกเพชร)

ตำหนิภายนอกเพชร
Images courtesy of Delmasdiamonds.in

3. ความมีสมมาตร (Symmetry)

ความสมมาตรที่สมบูรณ์แบบ ทั้งด้านซ้ายด้านขวา รวมถึงเหลี่ยมทุกเหลี่ยม ต้องมีความเท่าเทียมกัน เมื่อมองจากมุมต่างๆ เพชรที่มีสมมาตร แสงจะตกกระทบตามองศาได้อย่างถูกต้อง ทำให้สะท้อนประกายได้อย่างสวยงาม

เพชร 3EX คืออะไร และพิเศษยังไง

หากทั้งสามคุณสมบัติที่ผมกล่าวข้างต้น ได้แก่ Cut Grade, Polish Grade และ Symmetry ได้เกรด Excellent ทั้งหมด จะได้รับการขนานนามว่าเป็น “Triple Excellent” หรือ “เพชร 3Ex” ซึ่งเป็นเกรดสูงสุดตามมาตรฐานใบเซอร์

ส่งผลให้เพชรเม็ดนั้นๆ สะท้อนประกายออกมาได้ระยิบระยับสวยงามอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดครับ เราเรียกการเจียระไนเพชรที่ได้เกรดสูงสุดนี้ว่า “Ideal Cut” ซึ่งมักจะมีปรากฏการณ์ทางแสงที่เรียกว่า Heart & Arrow ร่วมด้วยเสมอๆ

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า หาก Color (สีของเพชร) ติดโทนเหลืองจนเกินไป หรือ Clarity (ความสะอาดของเพชร) มีมลทินภายในจนมองเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า แม้เพชรเม็ดนั้นๆ จะเจียระไนได้สวยสมบูรณ์แบบขนาดไหน เพชรเม็ดนั้นก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดเสมอไปครับ

การเจียระไนเพชร
ภาพแสดงการเปรียบเทียบ การสะท้อนของแสง ผ่านเพชรที่เจียระไนในสัดส่วนต่างกัน

บทสรุป

หากคุณผู้อ่านเป็นคนที่ชื่นชอบ ประกายระยิบระยิบสวยงามของเพชร การเจียระไนเพชร (Cut) เป็นอีกหนึ่ง C ที่มีความสำคัญและไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเจียระไนส่งผลต่อการสะท้อนของแสง ประกายไฟ และความระยิบระยับ (Light’s Performance) ของเพชรได้โดยตรง 

และด้วยประสบการณ์ของตัวผมเอง ผมถือว่า C (Cut) เป็น C ตัวที่สำคัญที่สุด ใน การพิจารณาคุณภาพเพชรด้วยหลัก 4C’s เลยครับ ดังนั้นการเลือกเพชรที่สวย จึงต้องโฟกัสการเจียระไนเพชรแบบ 3EX เอาไว้ก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นค่อยเลือกสเปกเพชรด้านอื่น หรือ C ตัวอื่นเป็นลำดับถัดไปครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถาม หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : Amoriz Jewelry
Instagram : Amoriz Jewelry
Tel : 087-5452612

author-avatar

About M. Whittawat

เป็น Gemologist ผู้ชื่นชอบโลกของอัญมณีเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลในสีสัน และความงดงามของประกายไฟ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อไปให้ถึงการเป็นสุดยอดนักอัญมณีของไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *