เพชรเป็นอัญมณีที่มีมูลค่าสูง และถูกใช้ในโอกาสสำคัญเสมอ ดังนั้นการเลือกซื้อ แหวนเพชรแต่งงาน ในแต่ละครั้ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาคุณภาพเพชรอย่างละเอียดถี่ถ้วน บทความนี้ Amoriz จะมาอธิบายถึงหลัก 4C เพชร ว่าคืออะไร C แต่ละตัวทำหน้าที่อะไรบ้าง เพื่อให้คู่บ่าวสาวมือใหม่ ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการซื้อเพชร ได้มีความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มความมั่นใจในการเลือกเพชรให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดนั้นเองครับ
หลักสำคัญที่ผู้ซื้อเพชรควรทราบคือ การประเมินคุณภาพ 4C เพชร จะขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 อย่าง ประกอบไปด้วย Carat, Color, Clarity และ Cut ซึ่งเป็นหลักมาตรฐานสากล ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาโดย สถาบัน GIA (Gemological Institute of America) เพื่อบ่งบอกถึงคุณค่า หรือ Value ของเพชรเม็ดนั้นๆ ในปัจจุบันหลัก 4C’s นี้ ได้กลายมาเป็นหลักการที่ใช้ประกอบการพิจารณาซื้อขายเพชร และได้รับการยอมรับไปทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อย
ยาวไป อยากเลือกอ่าน

Carat (น้ำหนักของเพชร) คือ C ตัวแรก
1. ความหมายของ กะรัตเพชร
กะรัต คือ หน่วยวัดน้ำหนักของเพชร โดยน้ำหนัก 1 กะรัต จะเท่ากับ 0.2 กรัม คนไทยเรานิยมเรียกกะรัต ว่า “ตัง” ฉะนั้นเพชร 1 กะรัต ก็จะเท่ากับ 100 ตังค์ หรือ เพชรหนัก 0.50 กะรัต ก็จะเรียกว่า 50 ตังค์ เป็นต้น
2. น้ำหนักเพชร VS การเจียระไน
น้ำหนักกะรัต จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการเจียระไนและขนาดของผลึกเพชรดิบ โดยในการเจียระไนเพชรดิบนั้น จะต้องมีการสูญเสียน้ำหนักไปอยู่แล้ว บางครั้งอาจสูญเสียไปไม่มาก เพื่อที่จะรักษาน้ำหนักเพชรไว้ แต่บางครั้งก็อาจจะสูญเสียน้ำหนักมากถึง 2 ใน 3 ส่วนของน้ำหนักเพชรดิบทั้งหมด
หากเจียระไนไม่ดี เช่น Pavillion (ก้นเพชร) ลึกไป หรือ Girdle (ขอบเพชร) หนาไป ก็อาจจะส่งผลให้เพชรมีน้ำหนักมากเกินความจำเป็น ทำให้ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินให้กับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น โดยที่ได้เพชรที่มีหน้ากว้างขนาดเท่าเดิม เพราะว่าในการซื้อขายนั้น เราขายกันในแบบ ราคาต่อกะรัต นั้นเอง

3. น้ำหนักเพชร VS ราคาเพชร
โดยราคาเพชรนั้น จะขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการหาผลึกดิบ (Rough Diamond) ยิ่งผลึกมีขนาดใหญ่ ก็ยิ่งหายาก ทำให้เพชรเม็ดใหญ่ที่มีน้ำหนักมากนั้นแพงกว่าเพชรเม็ดเล็กมากๆ เช่น เพชรหนัก 2 กะรัต จะแพงกว่าเพชรหนัก 1 กะรัต จำนวน 2 เม็ด ถึงแม้ว่าน้ำหนักโดยรวมจะเท่ากันก็ตาม เพราะราคาเพชรไม่ได้สูงขึ้นตามอัตราส่วน แต่จะสูงขึ้นโดยอ้างอิงจากความหายาก ดังนั้น เพชร 2 กะรัต ไม่ได้มีราคาเป็นสองเท่าของเพชร 1 กะรัต หรือ เพชร 1 กะรัตเองก็ไม่ได้มีราคาเป็นสองเท่าของเพชร 50 ตังค์นั้นเองครับ
4. ข้อควรรู้! เกี่ยวกับน้ำหนักเพชร
“น้ำหนักเพชร” ไม่ได้สัมพันธ์กับ “ขนาดเพชร” ซึ่งตรงนี้หลายคนมักเข้าใจผิด หากลองเปรียบเทียบอัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักเพชร กับอัตราการเพิ่มขึ้นของขนาดเพชร โดยเพชร 1 กะรัต มีขนาดประมาณ 6.4 mm แต่เพชร 2 กะรัต มีขนาดประมาณ 8.1 mm จะเห็นว่าน้ำหนักเพชรเพิ่มขึ้น 100% คือเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว แต่ขนาดเพชรเพิ่มขึ้นมาเพียงแค่ 30% เท่านั้นเองครับ
Color (สีของเพชร) คือ C ตัวที่สอง
1. เพชรมีสีอะไรบ้าง
เพชรส่วนใหญ่ที่พบเห็นในตลาดอัญมณีนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ เพชรที่มีสีใส ไม่มีสี ถึงสีเหลืองอ่อน โดยในการประเมินคุณภาพนั้นเราจะเริ่มจากตัวอักษร “D” เป็นตัวแรก ซึ่ง D Color ถือเป็นเกรดที่ดีที่สุด ไล่ไปเรื่อยๆจนถึงเกรดที่ต่ำที่สุด นั่นก็คือ Z Color และกลุ่มที่สองคือ เพชรที่มีสีเหลืองเข้มเกินกว่า Z Color จะถูกจัดให้เป็นเพชรสีแฟนซี (Fancy Diamond) ซึ่งนอกจากสีเหลืองเข้มแล้ว เพชรแฟนซียังมีสีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สีน้ำตาลเข้ม สีชมพู สีแดง สีส้ม สีน้ำเงิน สีฟ้า หรือสีเขียว เป็นต้น

2. วิธีเรียกสีเพชร ในแบบฉบับของคนไทย
คนไทยมักนิยมเรียกสีของเพชรว่า “น้ำ” โดยน้ำสูงสุดจะอยู่ที่ น้ำ 100 หรือก็คือ D Color นั่นเอง ไล่ลงไปก็จะเป็น น้ำ 99, 98, 97, … ซึ่งเทียบได้กับ E Color, F Color , G Color , … ตามลำดับ
- D-F Color จัดเป็นเพชรเกรดไร้สี (Colorless)
- G-J Color จัดเป็นเพชรเกรดเกือบจะไร้สี (Near Colorless)
- K-M Color จัดเป็นเพชรเกรด Faint Yellow จะเริ่มมองเห็นเป็นสีเหลืองบางๆ
- N-R Color จัดเป็นเพชรเกรด Very Light Yellow เพชรในช่วงนี้มีสีเหลืองอ่อนมากๆ สังเกตได้ง่าย
- S-Z Color จัดเป็นเพชรเกรด Light Yellow เพชรในช่วงนี้จะมีสีเหลืองอ่อน ตัดกับเพชรสีขาวชัดเจน
3. การประเมินสีเพชร
ในการประเมินคุณภาพสีนั้น จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญ และประสบการณ์ของผู้ประเมิน จึงจะประเมินสีออกมาได้ใกล้เคียงและแม่นยำที่สุด เนื่องจาก Color Grades ที่ได้นั้น แม้ว่าจะต่างกันนิดเดียว ก็ส่งผลต่อราคาของเพชรที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ดังนั้นไม่ควรเชื่อใครที่การันตีสีเพชรโดยไม่มีใบเซอร์ คุณควรเลือกซื้อเพชร ที่มีใบเซอร์รับรองจากสถาบันชั้นนำอย่าง GIA หรือ HRD ที่มีการระบุเกรดสีเพชรแล้วเท่านั้น
Clarity (ความสะอาดเพชร) คือ C ตัวที่สาม
1. ความหมายของ ความสะอาดของเพชร
ความสะอาดของเพชร คือ การประเมินมลทิน หรือ ตำหนิ (Clarity Characteristics) ของเพชร โดยมลทินจะอยู่ข้างใน เรียกว่า ‘Inclusions’ ในขณะที่ตำหนิ จะอยู่ด้านนอก เรียกว่า ‘Blemish’ ซึ่งโดยปกติแล้ว ความสะอาดของเพชร มักไม่ส่งผลต่อความสวยของเพชรมากนัก เนื่องจากมลทินส่วนใหญ่นั้น จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่อย่างไรก็ตามความสะอาดก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะว่ายิ่งเพชรมีมลทินน้อย ก็จะยิ่งมีระดับความสะอาดที่สูงขึ้น ส่งผลให้เพชรมีราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วยนั้นเอง

2. การกำหนดระดับ ความสะอาดของเพชร
ระดับความสะอาดของเพชรนั้น แบ่งตามมาตรฐานของสถาบัน GIA ได้เป็น 6 ประเภท 11 ระดับ โดยเรียงจากสะอาดมากที่สุดไปน้อยสุด ดังนี้
- Flawless (FL)
- Internally Flawless (IF)
- Very Very Slightly Included (VVS1 and VVS2)
- Very Slightly Included (VS1 and VS2)
- Slightly Included (SI1 and SI2)
- Imperfect (I1, I2, and I3)
Cut (การเจียระไนเพชร) คือ C ตัวสุดท้าย
1. ความหมายของ การเจียระไนเพชร
การเจียระไนเพชร แบ่งออกเป็น Cut และ Shape โดย Cut หมายถึง เหลี่ยมเพชร ซึ่งก็หน้าเจียระไนแต่ละหน้า (Facets) เช่น หน้า Table Facet, Bezel Facet, Star Facet หรือ Pavillion Facet เป็นต้น ส่วน Shape หมายถึง รูปร่างเพชร เช่น Round Shape, Oval Shape, Marquise Shape หรือ Heart Shape เป็นต้น ซึ่งเพชรที่ผ่านการเจียระไนแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็น Shape ไหน ก็จะมีส่วนประกอบหลักๆ อยู่ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ Crown, Girdle และ Pavillion

2. การกำหนดระดับ การเจียระไนเพชร
ในการประเมินคุณภาพของการเจียระไนเพชรนั้น (Diamond Cut Grading) สถาบัน GIA ได้คิดค้นระบบที่เป็นมาตรฐานในการประเมินเพชรทรงกลม (Round Brilliant) โดยพิจารณาจากองค์ประกอบทั้งหมด 3 อย่างด้วยกัน ประกอบไปด้วย
- สัดส่วนของเพชร (Cut Grade)
- การขัดเงา (Polish)
- ความมีสมมาตร (Symmetry)
โดยได้มีการกำหนด Grade ในการประเมินทั้ง 3 ด้าน ออกมา 5 ระดับ ได้แก่ Excellent (Ex), Very Good (VG), Good (G), Fair (F), และ Poor (P) ดังนั้นเพชรที่เจียระไนได้อย่างสมบูรณ์แบบ จะต้องได้เกรดทั้งสามด้านเป็น Excellent ทั้งหมด หรือเรียกว่า เพชร 3EX นั้นเองครับ
หลักการ 4C เพชร แบบสรุปเข้าใจง่าย
- Carat (กะรัต) คือ C ตัวแรก ที่บอกถึงความสำคัญของน้ำหนักเพชร
อ่านเพิ่มเติม : น้ำหนักของเพชร สำคัญไฉน?
- Color (สี หรือน้ำของเพชร) คือ C ตัวที่สอง ที่บอกถึงความสำคัญของความขาวใส
อ่านเพิ่มเติม : เพชรสวยต้องเป็นเพชรน้ำ 100 จริงไหม?
- Clarity (มลทินและตำหนิ) คือ C ตัวที่สาม ที่บอกถึงความสำคัญของความสะอาด
อ่านเพิ่มเติม : มลทินและตำหนิ ควรใส่ใจหรือมองข้าม?
- Cut (การเจียระไน) คือ C ตัวสุดท้าย ที่บอกถึงความสำคัญของระดับการเจียระไน
อ่านเพิ่มเติม : เหลี่ยมเพชรที่สมบูรณ์แบบ ตัดเกรดยังไง?

ควรให้ความสำคัญกับ C ตัวไหนมากที่สุด ?
หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า แล้วเราควรให้ความสำคัญกับ C ไหนมากกว่ากันใช่ไหมครับ? เพราะดูแล้วแต่ละ C ก็ดูสำคัญไปหมด รักพี่เสียดายน้อง แต่ถ้าจะเน้นคุณภาพให้ทุก C เป็นระดับดีเยี่ยมหมด ก็เกินงบประมาณไปอีก แล้วต้องตัดสินใจอย่างไรดี?

คำตอบก็คือ “ขึ้นอยู่กับคุณผู้อ่านเลยครับ”
ลองถามตัวเองให้ดีๆว่าทุกครั้งที่เราซื้อของชิ้นหนึ่งๆ เราพิจารณาถึงเรื่องใดเป็นอันดับแรก เช่น บางท่านให้ความสำคัญกับขนาดมาก่อน ชิ้นต้องใหญ่ ได้เยอะๆ บางท่านก็ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ แพคเกจ บางท่านก็เลือกตามสีที่ชอบ สีที่ถูกโฉลก หรือบางท่านก็อาจจะเช็คตำหนิของสินค้าก่อนเลย ซึ่งเป็นความชอบส่วนบุคคลอย่างแท้จริง
ไม่มีผิด ไม่มีถูก ขอเพียงคุณผู้อ่านได้รับข้อมูล และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอย่างครบถ้วน ส่วนจะตัดสินใจอย่างไร ก็ปล่อยไปตามหัวใจเลยครับ
บทสรุป
ผมขอฝากเคล็ดลับการเลือกซื้อเพชรด้วยหลัก 4C’s ให้ได้ตรงใจ ไว้ดังนี้ครับ
หากคุณผู้อ่านชอบเพชรเม็ดใหญ่ ผมแนะนำเลือกน้ำไม่ต้องสูงมาก ประมาณ G–H ก็เพียงพอแล้ว โดย Clarity เป็นเกรด VS1-2 คุณจะได้เม็ดใหญ่สมใจ ในขณะที่คุณภาพด้านอื่นไม่ด้อยเลย
แต่หากคุณผู้อ่านไม่ซีเรียสเรื่องขนาด แล้วให้ความสำคัญกับความขาวของเพชรเป็นหลัก ผมแนะนำสีท๊อป D–F ไปเลย แล้วเลือก Clarity แจ่มๆ ในเกรด VVS1-2 ท่านจะได้เม็ดที่ขาวใส ไฟงามอย่างที่สุดครับ
ทั้งนี้ในกรณีเป็นเพชรทรงกลม การตัดเกรดเรื่อง Cut ทั้งสามด้าน จะต้องเป็น 3 Excellent ไปเลยจะดีที่สุดครับ เพราะโดยส่วนตัวของผมแล้ว ผมมองว่า Cut สำคัญมากที่สุด เพชรจะสวยหรือไม่สวย การเจียระไนสำคัญมาก ดังนั้นเลือก Cut ในเกรด 3EX ก่อน แล้วค่อยลงดีเทลสเปกด้านอื่นนั้นเองครับผม
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถาม หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : Amoriz Jewelry
Instagram : Amoriz Jewelry
Tel : 087-5452612