Diamond Education

เพชร คืออะไร ทำไมถึงมีค่า จนใครๆก็อยากครอบครอง?

เพชร

หากพูดถึงเรื่องของอัญมณีและเครื่องประดับนั้น สิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึง ก็คงจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจาก เพชร แล้วอะไรที่ทำให้เรานึกถึงเพชรขึ้นมาเป็นอันดับแรกก่อนสิ่งอื่นใดเสมอ ทำไมเพชรถึงกลายเป็นอัญมณีอันดับหนึ่ง ที่คนทั่วทั้งโลกต่างให้การยอมรับ และทำไมถึงนิยมใช้เพชรเพื่อเป็น แหวนแต่งงาน ในทุกยุคทุกสมัย หลากหลายคำถามที่คุณสงสัยเกี่ยวกับเพชร วันนี้  Amoriz Jewelry จะพาทุกท่านไปรู้จักกับเพชรให้มากขึ้น แล้วคุณจะรู้ว่าคุณสมบัติต่างๆของเพชรนั้นพิเศษยังไง

ยาวไป อยากเลือกอ่าน

สีเพชร

การกำเนิดเพชร (Occurence)

จากการศึกษามลทินต่างๆที่อยู่ในเพชร ประกอบกับการศึกษาหินที่นำพาเพชรมาสู่พื้นผิวโลก พบว่าเพชรส่วนใหญ่เกิดอยู่ในหินอัคนี 2 ชนิดที่แตกต่างกัน นั่นก็คือ หิน Peridotite และ Eclogite ภายใต้สภาวะอุณหภูมิที่สูง และความดันสูง (High Pressure High Temperature / HPHT) ซึ่งเชื่อกันว่าเกิดอยู่ใต้เปลือกโลก ลึกลงไปมากกว่า 150 กิโลเมตร จากผิวโลก ในชั้นที่เรียกว่า Upper Mantle 

เหมืองเพชร

จากนั้นผลึกเพชรดิบ ก็ถูกนำพาขึ้นมาสู่เปลือกโลกโดยการเคลื่อนตัวของแมกมาจนเกิดการปะทุของภูเขาไฟ ตามปล่องหิน Kimberlite หรือ Lamproite (Kimberlite pipe / Lamproite pipe) ซึ่งหินพวกนี้ก็เคลื่อนตัวสู่เปลือกโลกด้วยเช่นกัน ต่อมาหินเหล่านี้ถูกกระบวนการกัดกร่อน (Erosion) ทำให้เพชรหลุดออกมา แล้วสะสมตัวตามแหล่งตะกอนทางน้ำ หรือตามชายหาด

แต่ปัจจุบันมีการสำรวจหาปล่องหิน Kimberlite ที่มีสายแร่ของเพชรอยู่ หากพบว่าปล่องไหนมีผลึกเพชรเป็นจำนวนมาก ก็ลงทุนทำเหมือนเพชรในบริเวณนั้น โดยการเริ่มขุดดินเป็นโพรงลงไปลึกเรื่อยๆจนเจอกับเพชรนั้นเอง 

คุณสมบัติทางเคมี (Chemical properties)

เพชรถือเป็นแร่ Native Element คือมีส่วนประกอบทางเคมีเป็นธาตุๆเดียว นั่นก็คือ คาร์บอน (C) เช่นเดียวกันกับ แกรไฟต์ (Graphite) หรือไส้ดินสอที่เราใช้กันอยู่นั่นเอง แต่เอ๊ะ!! ในเมื่อมีส่วนประกอบเหมือนกัน แล้วทำไมเพชรถึงกลายเป็นสิ่งที่แข็งที่สุดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้ล่ะ ตามมาดูคำตอบกันเลยครับ

รูปแสดงพันธะเคมีของเพชรและแกรไฟต์

นั้นก็เพราะว่าอะตอมคาร์บอนแต่ละอะตอมในโครงสร้างของเพชรนั้น เชื่อมต่อกันอย่างเหนียวแน่นเป็นรูป Cubic ด้วยพันธะโควาเลนท์ (Covalent Bond) ซึ่งเราทราบกันดีว่าเป็นพันธะเคมีที่แข็งแรงที่สุด (ภาพซ้ายมือ) ส่วนแกรไฟต์นั้น อะตอมคาร์บอนในโครงสร้างจะเชื่อมต่อแข็งแรงเฉพาะในแนวระนาบเท่านั้น แต่ระหว่างระนาบจะเชื่อมต่อกันด้วยพันธะที่ไม่แข็งแรง และมีระยะห่างระหว่างระนาบแต่ละชั้นมาก (ภาพขวามือ) จึงทำให้โครงสร้างโดยรวมของแกรไฟต์ไม่แข็งแรงนั้นเอง

4C เพชร

และเมื่อเพชรตกผลึกเรียบร้อยแล้ว รูปผลึกของเพชรมีได้หลากหลายรูปแบบในระบบ Isometric แต่รูปผลึกเพชรที่พบได้บ่อยๆ และคุ้นตากันมากที่สุดก็คือ รูปผลึก Octahedron หรือ มองดูคล้ายปีรามิดสองอันกำลังประกบกันอยู่นั้นเอง

คุณสมบัติทางกายภาพ (Physical properties)

1. Cleavage (แนวแตกเรียบ)

แนวแตกเรียบสมบูรณ์ 4 ทิศทาง ตามหน้าผลึก Octahedron การที่เพชรแข็งที่สุด ไม่ได้แปลว่า ถ้าเพชรตกแล้วจะไม่แตกนะครับ ด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้เพชรดิบ (ไม่ผ่านการเจียระไน) เวลาตกอาจแตกได้ แต่ในที่นี่จะไม่ใช่การแตกแบบแก้วแตก หรือสิ่งของทั่วๆไปแตกครับ แต่จะเป็นการแตกเป็นระนาบเรียบตามทิศทางของโครงสร้างอะตอมในผลึกแทน (คล้ายๆกับการกระเทาะเปลือกออก)

2. Specific Gravity (ค่าความถ่วงจำเพาะ)

เป็นค่าตัวเลขที่แสดงความหนาแน่นของสสาร มีค่าเท่ากับ 3.52 ซึ่งอัญมณีแต่ละชนิดจะมีค่านี้คงที่ จึงสามารถใช้ในการจำแนกชนิดของอัญมณีได้เป็นอย่างดีเลยครับ

3. Thermal Conductivity (การนำความร้อน)

เพชรถือเป็นอัญมณีที่นำความร้อนได้ดีที่สุด ด้วยสมบัตินี้เราจึงสามารถแยกเพชรแท้ออกจากเพชรเลียนแบบ หรือเพชรสังเคราะห์บางชนิดได้ แต่จะไม่สามารถแยกเพชรโมอิส (Moissanite) จากเพชรแท้ได้

ชาร์ทแสดงค่าความแข็งของอัญมณี
Images courtesy of Openeducationalberta.ca

4. Hardness (ระดับความแข็ง)

เป็นที่ทราบกันว่าเพชรนั้นแข็งที่สุด ไม่ว่าจะแข็งที่สุดในบรรดาอัญมณีทั้งหมด หรือแข็งที่สุดในบรรดาวัตถุต่างๆที่ธรรมชาติสร้างขึ้น โดยมีความแข็งเท่ากับระดับสูงสุด คือ ระดับ 10 ตาม Moh’s Scale (อ่านเพิ่มเติม : เรื่องลำดับความแข็งของอัญมณี) 

มีข้อสังเกตตรงที่ ค่าตัวเลขความแข็งในแต่ละลำดับนั้น เป็นค่าที่เปรียบเทียบกันเท่านั้น ไม่ใช่ค่าหน่วยความแข็ง เพราะช่วงความแตกต่างของความแข็ง ในแต่ละช่วงจะไม่เท่ากัน เช่น เพชรในลำดับที่ 10 แข็งกว่าคอรันดัมในลำดับที่ 9 ถึง 4 เท่า เลยทีเดียวครับ ตรงนี้นี่เองที่ทำให้เพชรพิเศษมากๆ

คุณสมบัติทางแสง (Optical Properties)

1. Color (สีเพชร)

เพชรมีมากมายหลากหลายสี ตั้งแต่สีขาวใส หรือออกโทนสีเหลืองอ่อน เราเรียกกลุ่มนี้ว่า Colorless Diamond ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบได้มาก และได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดเพชร นอกจากนี้ยังมีสีเหลืองเข้ม สีส้ม สีน้ำตาล สีแดง สีชมพู สีม่วง สีเขียว สีฟ้า ไปจนถึงสีดำ โดยเราเรียกเพชรสีเหล่านี้ว่า เพชรแฟนซี (Fancy Diamond) 

ซึ่งเพชรแฟนซีเหล่านี้มูลค่าของมันจะขึ้นอยู่กับความเข้ม ความสม่ำเสมอของสี โดยสีต้องสดและดูอิ่มน้ำ ซึ่งหายากมากๆ จะมีเพียง 1 ใน 10,000 เม็ดเท่านั้นที่มีสีแบบนี้ ทำให้เพชรแฟนซีเหล่านี้มีมูลค่าสูงมากๆ ตัวอย่างเช่น ในงานประมูล อาจจะขายได้ถึง 1,000,000 ดอลลาร์/กะรัต เลยทีเดียวครับ

เพชรแฟนซี

2. Transparency (ความโปร่งใส)

คือการยอมให้แสงผ่านของอัญมณี เมื่อแสงส่องผ่านแล้ว เราสามารถมองทะลุ หรือมองเห็นรูปร่างของวัตถุด้านหลังได้อย่างชัดเจน ซึ่งเพชรที่นำมาทำเป็นเครื่องประดับได้นั้น จะต้องเป็นเพชรที่มีคุณสมบัติโปร่งใส (Transparent) เท่านั้น 

แล้วเพชรที่ไม่โปร่งใสล่ะ มีไหม? ถ้ามีเราจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง?

จริงๆแล้ว เราแบ่งเพชรออกเป็น 2 ประเภท คือเพชรที่ใช้เป็นอัญมณี (Gems Diamond) และเพชรที่ใช้ในอุตสาหกรรม (Industrial Diamond) โดยเพชรที่ใช้ในอุตสาหกรรมจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ

  • บอร์ต (Bort) มีสีเทาถึงน้ำตาล โปร่งแสงถึงทึบแสง
  • บัลลัส (Ballas) เป็นกลุ่มผลึกเพชรเม็ดเล็กๆ ที่อยู่รวมกันเป็นก้อนกลม ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
  • คาร์โบนาโด (Carbonado) มีผลึกสีดำหรือเทา ทึบแสง อัดตัวกันแน่น จึงมีความเหนียวมาก เพชรเหล่านี้มักจะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่มีขั้นตอน กระบวนการของการตัด ขัดแต่ง บดหรือฝน และการขุดเจาะ โดยจะนำผงเพชรไปผสมไว้ตรงส่วนหัวของเครื่องมือขุดเจาะ หรือดอกสว่าน หรือจะนำไปใช้ขัด/ตัด พวก cemented carbide ก็ได้

ทั้งนี้ คุณรู้ไหมว่า เพชรที่มีคุณสมบัติใช้เป็นอัญมณีได้ เมื่อเทียบกับปริมาณเพชรทั้งหมด ที่ผลิตได้จากเหมืองในแต่ละปีนั้น มีน้อยมากๆ เพียงแค่ประมาณ 20 % ของเพชรทั้งหมดเท่านั้นเอง

เพชรที่ใช้ในอุตสาหกรรม

3. Refractive Index (ค่าดัชนีหักเหแสง)

มีค่าเท่ากับ 2.417 ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับอัญมณีชนิดอื่นๆ

4. Luster (ประกาย)

เพชรถือว่าเป็นอัญมณีที่มีประกายแวววาวสูงที่สุด (Very Bright Luster) โดยรู้จักกันในชื่อว่า ประกายแบบเพชร (Adamantine) ด้วยประกายที่สูงนี้ ทำให้เพชรมีความสามารถในการสะท้อนแสงที่ตกลงมากระทบผิวในเปอร์เซนที่สูงมาก ด้วยเหตุนี้ทำให้เพชรดูแวววาว ระยิบระยับ สว่างไสวมากๆ (Sparkle)

และเมื่อเพชรถูกนำใช้เป็นอัญมณี จึงได้รับการออกแบบเหลี่ยมมุมในการเจียระไนพิเศษโดยเฉพาะ เพื่อให้เพชรสามารถสะท้อนแสงได้มากที่สุด หรือที่เราเรียกว่า การเจียระไนเหลี่ยมเพชร (Brilliant Cut) 

5. Dispersion (การกระจายแสง)

เพชรมีค่าการกระจายแสง เท่ากับ 0.044 ถือว่าเป็นค่าที่สูงมาก ด้วยค่าการกระจายที่สูงมากนี้ ทำให้แสงขาวที่ตกมากระทบถูกแยกออกมาเป็นสีต่างๆ (สีรุ้ง) ตามช่วงความยาวคลื่น (Spectrum) ของแต่ละสีที่ต่างกัน เหมือนกับการแยกแสงขาวด้วยปริซึม

เพราะเหตุนี้จึงทำให้เราเห็นเพชรมีไฟหลากหลายสีมาก (Colorful Fire) และยังทำให้เพชรมีประกายแวววาวกว่าอัญมณีชนิดอื่นๆอีกด้วย ยกอย่างเช่น ทับทิมหรือไพลิน มีค่าการกระจายแสงเพียง 0.018 จึงไม่มีประกายแวววาวเมื่อโดนแสงไฟ เหมือนอย่างเพชรนั้นเอง

เพชรเรืองแสง

6. Fluorescence (การเรืองแสง)

เพชรส่วนใหญ่จะเรืองแสงทั้งใน SWUV (Short Wave UV / แสงยูวีช่วงคลื่นสั้น) และ LWUV (Long Wave UV / แสงยูวีช่วงคลื่นยาว) เพชรอาจเรืองแสงเป็นสีต่างๆกัน เช่น ฟ้า ม่วง น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม บางครั้งอาจเรืองแสงสีแดง โดย 15 % ของเพชรที่เป็นอัญมณีจะเรืองแสงชัดเจนภายใต้ LWUV ซึ่งโดยทั่วไปเรืองแสงเป็นสีฟ้า เพชรบางชนิดอาจจะแสดงการเรืองแสงค้าง (Phosphorescence) กล่าวคือ เมื่อหยุดฉายรังสียูวีแล้ว เพชรยังคงมีการเรืองแสงต่อไปได้อีกเล็กน้อย

บทสรุป

เพชรถือว่าเป็นอัญมณีที่สำคัญที่สุด มีคุณค่าและราคาสูงกว่าอัญมณีชนิดอื่นๆ เนื่องจากมีโครงสร้างที่แข็งแรง ทำให้มีความแข็งมากที่สุด อีกทั้งยังเกิดในสภาวะที่มีความร้อนและความกดดันสูงมาก ซึ่งแตกต่างจากการเกิดอัญมณีชนิดอื่น นอกจากนี้แล้วเพชรยังมีค่าดัชนีการหักเหแสงและการกระจายแสงสูงมาก จึงส่งผลให้มีประกายแวววาวหรือไฟดีกว่าอัญมณีอื่น ด้วยคุณสมบัติต่างๆทั้งหมดนี้ ทำให้เพชรกลายเป็นอัญมณีที่มีความต้องการมากที่สุดในโลกครับผม

และเนื่องด้วยเพชรเป็นอัญมณีที่มีมูลค่าสูง การซื้อขายในปัจจุบัน จึงต้องพิจารณาจากคุณภาพของเพชรเป็นหลัก โดยใช้หลัก 4C’s (อ่านเพิ่มเติม : หลักการประเมินคุณภาพเพชร 4C’s) อันประกอบไปด้วย Carat, Color, Clarity, Cut ซึ่งเกณฑ์คุณภาพเหล่านี้ จะนำไปสู่การกำหนดราคากลางของเพชรทุกขนาด หรือที่เรียกว่า ราพาพอร์ท (Rapaport) ทำให้เพชรทุกขนาด ทุกคุณภาพ มีราคากลางกำหนดเอาไว้ ป้องกันผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ และโก่งราคาเกินความจำเป็นนั้นเอง ตรงนี้เองที่ผมมองว่ามีความสำคัญมาก และคุณควรต้องรู้เอาไว้ หากคุณอยากเข้าใจ การกำหนดราคาเพชรเพิ่มเติม กดอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ราพาพอร์ท (Rapaport)

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถาม หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : Amoriz Jewelry
Instagram : Amoriz Jewelry
Tel : 087-5452612

author-avatar

About M. Whittawat

เป็น Gemologist ผู้ชื่นชอบโลกของอัญมณีเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลในสีสัน และความงดงามของประกายไฟ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อไปให้ถึงการเป็นสุดยอดนักอัญมณีของไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *